วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร ( วัดพระปรางค์ )
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร
สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยตรงช่วงแหลมโค้งข้อศอกของ
แม่น้ำยมหันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก
ความสำคัญต่อชุมชน
วัดนี้เป็นวัดสำคัญของเมืองเชลียง ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๑ และในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปปราบชุมชนพระฝางเมืองสวางคบุรี แล้วได้เสด็จสมโภชพระบรมธาตุ
เมืองเชลียงนี้ด้วย และวัดนี้ยังเป็นที่สรงน้ำมูรธาภิเษก สำหรับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติมา
แต่ครั้งโบราณกาล ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สำคัญมีดังนี้
ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนเสร็จแล้วลงสีชาดทับ ลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมจัดอยู่
ในสมัยอยุธยา ภายในซุ้มโขงมีสถูปรูปดอกบัวตูมขนาดเล็กโผล่ขึ้นมาคล้ายถูกสร้างครอบทับ ตามผนังภายใน
องค์ปรางค์พบว่ามีร่องรอยเดิมคงมีจิตรกรรมฝาผนัง แต่ลบเลือนไปมาก ส่วนบริเวณเรือนธาตุด้านหน้ามี
บันไดขึ้นองค์ปรางค์ได้
ลักษณะฐานปรางค์องค์นี้ มีเป็นวิหารคด ๓ ชั้น ก่อผนังทึบ และเจาะช่องแสง ฐานปรางค์แผ่ขยาย
กว้างออกไปทั้ง ๓ ด้าน (ด้านหน้าเป็นพระวิหาร) คล้ายสร้างครอบสถูปหรือเจดีย์ที่สำคัญไว้ภายใน มีอายุอยู่
ในช่วงก่อนสุโขทัยตอนต้น เนื่องจากขุดค้นพบฐานโบราณคดีก่อด้วยอิฐอยู่ใต้ฐานพระวิหารหลวง นอกจากนี้
ยังพบกระเบื้องเชิงชายรูปนางอัปสรและเทวดา ซึ่งมีลักษณะร่วมสมัยศิลปะเขมรแบบบายน เช่นเดียวกับลาย
ปูนปั้นยอดซุ้มประตูกำแพงวัด ซึ่งทำเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อยู่ด้านบนทั้ง ๔ ทิศ ด้านล่างเป็นรูป
เทพธิดานั่งในกรอบ ซุ้มด้านล่างเป็นรูปนางอัปสรร่ายรำ
ฐานพระวิหารหลวงพ่อโตอยู่ด้านหน้าพระปรางค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมาร
วิชัย ประทับอยู่ตรงกลางขนาบด้วยพระพุทธรูปขนาดเล็กประทับยืนทั้ง ๒ ข้าง ถัดจากพระพุทธรูปปางมาร
วิชัยทางด้านขวามีพระพุทธรูปปั้นปางลีลาที่มีลักษณะงดงาม
กำแพงวัดเป็นศิลาแลงแท่งกลมขนาดใหญ่ปักเรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๖๐ เมตร ยาว
๙๐ เมตร มีคานทับหลังกำแพง มีทางเข้าออกด้านหลัง เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคา ยอดเหนือซุ้ม
ขึ้นไปปั้นปูนเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระธาตุมุเตา อยู่ด้านหลังปรางค์ประธานนอกกำแพงแก้ว แต่ยังล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงที่ทำ
เป็นสี่เหลี่ยม ซึ่งน่าจะเป็นคนละสมัยกับกำแพงศิลาแลงที่ทำเป็นท่อนใหญ่ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง
ตัวพระธาตุมุเตาก่อด้วยศิลาแลงฐานเป็นเหลี่ยมซ้อนกัน ๔ ชั้น ต่อจากนั้นเป็นบัวถลา ๓ ชั้น ส่วนที่อยู่เหนือ
ขึ้นไปพังทลายลงมาหมด ลักษณะพระธาตุมุเตาเป็นเจดีย์ทรงมอญ ในการขุดแต่งปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้พบ
ทองจังโกประดับส่วนยอดของเจดีย์
มณฑปพระอัฏฐารส อยู่ด้านหลังของพระธาตุมุเตา เดิมน่าจะเป็นมณฑปพระสี่อริยาบท ต่อมาได้
ซ่อมแซมดัดแปลงภายในซุ้มคูหายังมีพระพุทธรูปปูนปั้นยืนอยู่ เดิมเป็นมณฑปมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา
วิหารสองพี่น้อง อยู่ทางซ้ายพระอัฏฐารส ก่อด้วยศิลาแลง มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ๒ องค์
อยู่บนแท่นพระ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าฐานวิหารสองพี่น้องก่อทับโบราณสถานที่ก่ออิฐ ข้างขวา
พระวิหารหลวงพ่อสองพี่น้องพบฐานรอยพระพุทธบาทด้วย
โบสถ์ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลังโดยสร้างทับโบสถ์เดิม
กุฏิพระร่วงพระลือ ชาวบ้านเรียกว่า ศาลพระร่วงพระลือ ได้รับการบูรณะซ่อมแซมในปีเดียวกันกับ
โบสถ์ ลักษณะเป็นมณฑปฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง หลังคาคล้ายรูปชามคว่ำซ้อนกัน ๔ ชั้น ภายใน
ประดิษฐานรูปหล่อพระร่วงพระลือ (จำลอง)
เส้นทางเข้าสู่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
จากตัวเมืองสุโขทัยไปทางทิศเหนือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๑ ประมาณ ๕๕ กิโลเมตร